เล่าประสบการณ์การใช้ “อีปริก รีแอค พิ้งกุ~” ในระยะฮาล์ฟมาราธอน (21km) บนถนนพื้นปูนที่งาน ศิริราชฯ

กลับมาแล้วสำหรับรีวิว อีปริก รีแอค พิ้งกุ จาก โอตะ บีเดย์ สำหรับเพื่อนๆที่อยากรู้ว่าถ้านำอีปริกมาวิ่งระยะยาวๆจะเป็นเช่นไร มาอ่านรีวิวกันจ๊ะ จาก แอดมินบีเดย์ เพจ ไม่คิดว่าผมจะรักการวิ่งขนาดนี้

มาตามสัญญาแล้วว~ มาๆ ได้เวลามาเล่าประสบการณ์การใช้ “อีปริก รีแอค พิ้งกุ~” ในระยะฮาล์ฟมาราธอน (21km) บนถนนพื้นปูนที่งาน ศิริราชฯ วันอาทิตย์ที่ผ่านมาให้ฟังจ้า
คำเตือนนน ยาวหน่อยน้าา แต่ก็พอๆ กะอันแรกแหละ 555

เอาจริงๆ ตอนแรกก็แอบหวั่นฟ้าฝน เพราะช่วงนี้มรสุมแปรปรวน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวพายุ เกรงว่า “อีปริก” จะกลายสภาพเป็น “อีปรก” ไปก่อนวัยอันควร เลยเอาพกนุ้ง boost เหลืองสุดที่รักไปด้วยเผื่อฉุกเฉิน แต่แล้วเทวดาก็ปราณี เช้าวันวิ่งไม่มีฝน อากาศดี๊ดีย์ เหมือนใครมาปักตะไคร้ไว้ให้ เลยไม่รอช้า คว้าอิปริก พิ้งกุมาใส่แล้วรอเวลาที่เส้นสตาร์ท หลังจากที่พิธีกรได้เรียกรวมเพื่อนๆ นักวิ่งร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้ว ในเวลาตี 4 สัญญาณแตรปล่อยตัวระยะฮาล์ฟมาราธอนก็ดังขึ้น~

———————

ช่วงที่ 1 กิโลที่ 1 – 7
เนื่องจากจำนวนนักวิ่งมีเป็นจำนวนมาก จึงทำความเร็วได้ไม่มากเท่าไหร่ ตามๆ กันไป ก็พยายามจับความรู้สึกของการวิ่ง การลงเท้าตลอด หลังจากวิ่งไปได้สักระยะ สิ่งที่รู้สึกได้คือ เฮ้ย..ทำไมมันเมื่อยขาจังฟระ จะว่าไม่ได้ยืดก่อนวิ่ง ก็เปล่า เพราะปกติก่อนวิ่งก็จะเดินสำรวจซุ้มอาหาร ตีซี้เจ้าหน้าที่ที่มาออกบูธของหวานต่างๆ ไม่ได้ยืดเหมือนกัน 555 แต่รู้สึกว่าตอนใส่ ultraboost มันไม่เมื่อยเท่านี้นี่นา ครั้งนี้มันเมื่อยมาจากอะไรหนอ วิ่งไปได้สักพักต้องเริ่มสลับเดิน ใจคอไม่ดี อุทานในใจ “ชิหัยละ ปกติใส่คู่เก่า ถึง boost จะเหลืองไปบ้าง แต่ก็ไม่เคยต้องเดินตั้งแต่ 5 – 6 โลแรกแบบนี้หนา”

เท่าที่ได้ลองวิเคราะห์ ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเกิดจากการที่พื้น React มันเด้งกว่าคู่เดิมที่เคยใส่ แรงเด้งที่ส่งกลับคืนมาให้มันเลยมาก ทำให้เราต้องก้าวเท้าไปข้างหน้าเร็วกว่าปกติ แล้วพอเป็นพื้นปูนที่มีความแข็งกว่าลู่วิ่งนิ่มๆ (ที่คอยซับแรงกระแทกให้เราส่วนนึงอยู่แล้ว) แรงตีกลับมันเลยมากกว่าตอนที่วิ่งลู่ 15 โล ครั้งก่อน อืมมม ต้องแบบเพราะแบบนี้แน่ๆ

———————

ช่วงที่ 2 กิโลที่ 8 – 14
เป็นช่วงที่เหมือนร่างกายมันเรียนรู้ว่าต้องปรับตัวยังไง ไม่พยายามเร่ง ก้าวจังหวะให้ผ่อนคลาย หลังจากนั้นรู้สึกเลยว่าวิ่งเข้าเท้ามากขึ้น ไปได้เรื่อยๆ ไม่เมื่อยขาเหมือนช่วง 7 กิโลแรก โดยเฉพาะช่วงนี้มีอยู่สองสามครั้งที่ได้ลองเร่งแซงด้วยการกดน้ำหนักเท้าลงให้หนักขึ้น ก็รู้สึกได้เลยว่า พื้น React ของน้องพิ้งกุ ทำการ “ยุบ – เด้ง – กระชาก” พาตัวเราพุ่งออกไปได้แบบเฟิร์มๆ ไม่มีย้วย ยวบให้กังวล ซึ่งตรงนี้ตกใจมาก ชอบมาก กระชากออกเหมือนขับรถขุมพลังดีเซลเทอร์โบคู่ วิ่งสนุกมากขึ้น จะมีพักก็แค่ช่วงตอนดื่มน้ำ พอโยนแก้วลงถังขยะ ก็วิ่งได้ต่อแบบสบายๆ ไม่ฝืน

———————

ช่วงที่สุดท้าย 15 – 21
สำหรับคนที่เคยใส่ ultraboost มาก่อนอาจเคยได้ยินเรื่อง boost แป้ก คือหลังจากที่วิ่งระยะไกลๆ พื้นโฟมมันจะเริ่มไม่ค่อยนิ่ม หรือ ไม่ค่อยเด้งแล้ว ซึ่งก็ยังเป็นข้อถกเถียงกัน ว่าเป็นการมโน ซึ่งเกิดจากอาการขาล้าของนักวิ่งเอง หรือ boost นั้นเกิดอาการตื้อไปเสียดื้อๆ จริงๆ เอาจริงๆ แอดใช้มา 3 รุ่น ก็เคยรู้สึกอาการอย่างนี้บ้างเหมือนกัน แต่ด้วยความเป็นคามิโอชิของ adidas เลยไม่อยากสนใจอะไร ก็วิ่งต่อไปเรื่อยๆ จนจบด้วยความแฮปปี้

แต่แล้วอาการนี้ ก็เกิดขึ้นกับพิ้งกุของพี่ ตอนช่วงกิโลที่ 18 กว่าๆ …

น้องพิ้งกุเกิดอาการ React ด้าน ไม่ค่อยเด้งเหมือนช่วงแรก ใจคิดว่า อ่อ สงสัยขาเราเองแหละที่มันล้า ต่อให้ใส่สปริงตอนนี้ มันก็เด้งไม่ออก (ไม่ใช่เพราะน้ำหนักตัวเยอะนะ) ก็ยังวิ่งลากไปเรื่อยๆ จนเจอไฟแดง ก็เป็นช่วงที่ได้พัก สัก 20 วินาที พอไฟเขียวเซอร์ไพรส์ที่ 2 ก็เกิดขึ้น คือตอนออกวิ่ง พื้นที่มันเหมือนจะด้านๆ ก็กลับมาเด้งอีกรอบ หลังจากที่ได้หยุดพัก

ส่วนตัวคิดว่า พื้น React ที่ถูกเหยียบ-คลาย ซ้ำๆ กันเป็นเวลานาน ก็อาจเกิดอาการแป้กได้ แต่สิ่งที่สร้างความตกใจให้เราก็คือ มันคืนตัวกลับมาเด้งต่อได้ไวดีจัง เอออันนี้ชอบ (กำลังคิดว่างๆ เดี๋ยวจะลองเอา ultraboost มาวิ่งยาวๆ มาตั้งใจจับความรู้สึกอีกรอบ แล้วลองเปรียบเทียบดูอีกที) แล้วก็วิ่งจบด้วยเวลาปกติของตัวเอง ไม่ได้ new pb แต่อย่างใด คิดว่าขอลองอีกสักพัก ให้รู้ใจกันอีกนิด แล้วจะลองตั้งชาเล้นจ์ตัวเองใหม่ในงานต่อๆ ไปแล้วกัน ^^

———————

 

ส่วนเรื่องความคงทนของพื้นรองเท้า
แอดได้ถ่ายรูปเก็บไว้ก่อนวิ่ง และหลังวิ่ง แล้วเอามาเปรียบเทียบกัน พบว่าพื้นส่วนกลางเท้า ที่เป็นส่วนนิ่มๆ มีความ “ร่องหาย” ไปนิดหน่อย เมื่อเทียบกับ Before แล้วก็ถือว่า Aftet นี่หายไปไม่เยอะ แต่เอาจริงๆ ตอนแรกที่หงายดูหลังวิ่งเสร็จนี่ถึงกับอุทานออกมา เพราะเหมือนโดยเจียรไปเยอะ แต่พอเอาเทียบดูกับรูปที่ถ่ายไว้ก่อนวิ่งก็เบาใจ เออ หายไปนิดเดียว

แต่แอดคิดว่าทางไนกี้เค้าก็คงคิดเรื่องนี้ไว้เหมือนกันแหละ เพราะหลังจากที่สังเกต พื้นรองเท้าดีๆ ก็พบว่าพื้นมันจะวัสดุอยู่ 2 แบบ แบ่งเป็น 1. ส่วนปลายเท้า กับ ส่วนส้น ที่เป็นเหมือนยาง (?) แข็งๆ กับ 2. ส่วนพื้นที่มันนิ่มๆ (ที่โดนเจียรไประหว่างวิ่ง) โดยส่วนที่ 1 ที่เป็นยางแข็งๆ นั้นค่อนข้างทน เท่าที่ส่องไม่พบการสึกหรอในระยะ 21 โลนี้ เลยคิดว่า ถึงพื้นส่วนที่ 2 ที่เป็นส่วนนิ่มนั้นจะถูกเจียรหายไปกับพื้นถนน เมื่อถึงอายุการใช้งานของมัน ก็ยังเหลือพื้นส่วนที่ 1 ที่ยังทำให้เราสามารถใช้วิ่งต่อไป โดยไม่ลื่นเมื่อเจอน้ำ

———————

สรุปจ้า สรุป

01 อีปริก รีแอค พิ้งกุกับระยะ 21โล ก็ยังวิ่งสนุกเหมือนที่คาด กด กระชาก ได้ตามใจ แต่ช่วงแรก อาจจะต้องปรับพื้นฐานของร่างกายกันสักหน่อย สำหรับคนที่ยังไม่ชิน

02 เนื้อผ้า Flyknit ใส่สบาย ระบายอากาศดี แต่หน้าแคบหน่อย ผ้าไม่ยืดเท่า Primeknit ของ ultraboost คนที่หน้าเท้าใหญ่ อาจเกิดอาการนิ้วก้อยชนด้านข้าง ทั้งๆ ที่เผื่อไซส์แล้ว ซึ่งถ้าวิ่งไกลๆ บอกเลย หนังชีวิต (จากคำบอกเล่าของน้องลูกเพจที่มีความตีนบานคนหนึ่ง) แอดก็ยังยืนยันนะ อยากให้ไปลองก่อน ลองใส่วิ่งเหยาะๆ ที่ร้านดูก่อนจะซื้อ หรือถ้าจะซื้อ Online ก็ขอให้ไปลองไซส์ก่อนสักครั้ง แล้วจะมากดในเวป ก็ค่อยว่ากัน

03 พื้นรองเท้า เจอถนนเปียก แฉะ ไม่ลื่น หนึบดี มั่นคง ไม่แพ้พื้น Continental ที่อยู่ใน ultraboost แต่ส่วนนิ่มที่อยู่กลางเท้าคิดว่าไม่น่าทน แต่ก็ยังอุ่นใจกับส่วนแข็งที่อยู่บริเวณปลายเท้ากับส้นเท้า เลยเบาใจไปได้หน่อยนึง แต่อันนี้ก็ต้องดูต่อไป เพราะวิ่งมาแค่ 30-40 โล ก็ยังเร็วที่จะตัดสิน

มีอะไรอีกน้อ.. คิดว่าไม่น่ามี ถ้านึกอะไรออกจะมาบอกเพิ่ม
หรือสงสัยตรงไหนถามได้ที่ใต้โพสได้เลยนะครับ ถ้าไม่เกินความสามารถจะตอบให้จ้า

———————

แอดบีเดย์
วันแรงงาน 01.05.18

———————-

เป็นรีวิวจากแอดบีเดย์ที่โคตรละเอียดจริงๆ นุทว่าอย่างน้อยก็เป็นข้อมูลให้กับเพื่อนๆที่กำลังคิดว่าควรจะซื้อตัวนี้ดีไหม ไม่ได้คิดว่าจะมาป้ายยา แต่อยากให้ได้ไปลองของจริงก่อนที่จะซื้อ จะได้เลือกรองเท้าให้เหมาะกับตัวเองจริงๆ ไม่ใช่ซื้อเพราะกระแส นะจ๊ะ ด้วยความหวังดี

Loading Facebook Comments ...

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *